วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ทักษะเบื้องต้น (Basic Skills)


                                                        
การจับแร็กเก็ต
การจับแร็กเก็ตมีความสำคัญมาก เพราะว่าถ้าจับถูกต้องแล้วจะสามารถตีได้ดีทั้งลูกหน้ามือและหลังมือ วิธีจับแร็กเก็ตให้ถูกสุขลักษณะ ผู้เล่นควรจับด้ามแร็กเก็ตแบบจับมือกัน (Shake hand) หรือจับแบบ วีเชป (V-Shape) ด้วยมือข้างที่ถนัด กำมือไม่แน่นหรือหลวมเกินจนเกินไป ให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย และนิ้วหัวแม่มือกำด้ามแร็กเก็ตเรียงเป็นแนว 45 องศา ส่วนการจับไม้แบบหลังมือนั้นจะจับแบบเดียวกันก็ได้ หรือขยับนิ้วหัวแม่มือขึ้นทาบไปกับด้ามไม้เป็นเส้นตรงกับด้านข้างของด้ามไม้ขณะตีก็ได้
การบังคับแร็กเก็ต
เมื่อจับแร็กเก็ตมั่นคงดีแล้ว ลองหัดเหวี่ยงไม้ไปข้างหน้า ข้างหลัง ซ้าย และขวา หัดใช้ข้อมือพร้อม ๆ กันไปด้วย จะเห็นว่าแรงที่มานั้นจะมาจาก
แรงเหวี่ยงของแขน
แรงตวัดของข้อมือ
การเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า
การตีลูกขนไก่การฝึกตีลูกขั้นต้นให้หัดตีลมไปก่อน ความมุ่งหมายก็เพื่อฝึกการใช้ข้อมือ เพราะแบดมินตันเป็นกีฬาที่ใช้ข้อมือ ขณะ ขณะเดียวกันต้องหัดฟุตเวอร์ค เพื่อฝึกความว่องไวของเท้า วิธีฝึกโดยให้ยืนอยู่กึ่งกลางสนามแล้วเคลื่อนที่โดยการสไลด์ไปทางซ้าย ขวา ข้างหน้า และถอยหลังสลับกันไป ขณะสไลด์ให้ฝึกเหวี่ยงแร็กเก็ตตามไปด้วย บางครั้งทำท่าคล้ายกับการวิ่งเข้าไปรับลูกที่ฝ่ายตรงกันข้ามตีมาในทิศทางต่าง ๆ เมื่อเสร็จจากการวิ่งแต่ละครั้งให้วิ่งกลับมายืนที่เดิม ให้พยายามทรงตัวให้ดี สายตาจับอยู่ที่ลูก การตีควรตีลูกกลับไปยังเป้าหมายที่ห่างตัวผู้รับให้มาก และตีไปในที่ปลอดภัยที่สุดที่ฝ่ายรับจะโต้กลับมาไม่ได้ หรือฝ่ายรับมีโอกาสจำกัดในการรับลูก การตีลูกจากทางด้านเดียวกันกับมือที่ถือแร็กเก็ต เรียกว่า การตีลูกหน้ามือ (Forehand Stroke) ขณะที่ตีลูกเท้าซ้ายจะวางข้างหน้าเท้าขวา ส่วนการตีลูกจากทางด้านตรงกันข้ามกันกับมือที่ถือไม้ เรียกว่าการตีลูกหลังมือ (Backhand Stroke) ขณะที่ตีลูกเท้าขวาจะวางข้างหน้าเท้าซ้าย และหันไหล่ขวาเข้าหาตาข่าย

ฟุตเวอร์ค (Footwork) 
การก้าวเท้าจากท่าเตรียมพร้อมต้องทำให้รวดเร็ว จากท่าเตรียมพร้อมจะยืนเท้าแยกให้ห่างพอสมควรประมาณ 18 นิ้ว ให้น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าหน้า ย่อตัวเล็กน้อย ถ้าถือแร็กเก็ตมือขวาจะยืนโดยให้เท้าซ้ายอยู่ข้างหน้าเล็กน้อย มือยกแร็กเก็ตสูงขึ้น พร้อมที่จะตีลูกได้ทันที ผู้เล่นต้องวางเท้าให้ถูกในการตีลูกแต่ละแบบ มีข้อแนะนำบางประการสำหรับฟุตเวอร์คของผู้เล่นแบดมินตันคือ
อยู่ในท่าเตรียมพร้อมตลอดเวลา
เมื่อจะตีทางด้านที่มือถือแร็กเก็ต ให้หมุนตัวโดยใช้เท้าที่เป็นหลักก้าวเข้าไปตีลูก ให้เท้าขวานำและให้ด้านซ้ายชี้เข้าหาตาข่ายขณะตี
เมื่อพยายามจะตีลูกใด ๆ ก็ตามอีกด้านหนึ่งให้หมุน หรือหันมาทางซ้ายโดยใช้ปลายเท้าทั้งสองเป็นหลัก เวลาตีไหล่ขวาจะชี้เข้าหาตาข่าย
การกระโดดหรือสไลด์เป็นสิ่งสำคัญในการเคลื่อนที่ให้เร็วในการเล่นแบดมินตันอย่ายืนแข็งทื่อขณะรอลูกที่ลอยมา เพราะจะทำให้เคลื่อนที่ได้ช้า

การจับลูกขนไก่
การส่งลูกเป็นการเล่นตีจากด้านล่าง จะตีได้ทั้งลูกหน้ามือและหลังมือ แต่นิยมส่งลูกด้วยหน้ามือมากกว่า เพราะเป็นการส่งที่มีประสิทธิภาพมาก
ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการส่งลูก พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
ยืนห่างเส้นกลางสนาม 2-3 นิ้ว และยืนห่างเส้นส่งลูกสั้นประมาณ 2-3 ฟุต
ยืนให้เท้าซ้ายอยู่ข้างหน้าสำหรับคนถนัดตีมือขวาให้ย่อเข่าเล็กน้อย ขณะส่งลูกให้จำไว้ว่าเท้าทั้งสองต้องแตะพื้นสนาม
สมมุติส่งลูกหน้ามือ ถือไม้มือขวา
ใช้มือซ้ายจับลูกขนไก่ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับตรงฐานของลูกขนไก่
เหยียดแขนซ้ายขึ้นเป็นเส้นทแยงกับลำตัวสูงระดับไหล่
เหวี่ยงไม้ไปข้างหลังสูงระดับข้อมือ หรือสูงกว่านั้น
ขณะที่เหวี่ยงไม้กลับมาข้างหน้า ให้ปล่อยลูก จุดที่แร็กเก็ตกระทบลูกจะอยู่ระหว่างหัวเข่าและข้อมือ ระหว่างส่งลูกตอนแรก น้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้าหลังก่อน พอส่งลูกไปแล้วน้ำหนักตัวจะกลับมาอยู่ที่เท้าหน้า เพื่อตามลูกไป
การตามลูก (Follow-Through) เป็นสิ่งสำคัญมากจะตามลูกไปในทิศทางขึ้นข้างบนหรือไปในทิศทางที่ต้องการให้ลูกไปตก ถ้าตามลูกน้อยไปลูกจะไปตกไม่ถึงที่ต้องการ
การส่งลูกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำคะแนนได้ ควรส่งลูกอย่างมีเป้าหมายให้ตกในที่ฝ่ายรับจะรับได้ลำบาก เวลาส่งควรยืนให้เท้าซ้ายอยู่ข้างหน้า จับลูกขนไก่ด้วยมือซ้ายสำหรับคนถนัดขวา ค่อย ๆ ปล่อยลูกขนไก่ให้ได้จังหวะเดียวกับที่มือขวาเงื้อแล้วตีลูกข้ามตาข่ายไปตกตามต้องการ

ข้อควรระวังในการส่งลูกมิให้ผิดกติกา คือ
ขณะส่งลูก ผู้เล่นต้องยืนในแดนที่ถูกต้อง เท้าทั้งสองต้องไม่เหยียบเส้นใดเส้นหนึ่ง
ขณะที่แร็กเก็ตกำลังสัมผัสลูก เท้าทั้งสองต้องอยู่ติดพื้นสนาม จะยกเท้าข้างใดข้างหนึ่งพ้นพื้นสนามไม่ได้
หัวแร็กเก็ตต้องอยู่ต่ำกว่าปลายมืออย่างเห็นได้ชัด ถ้าหัวไม้อยู่ระดับปลายมือถือแสดงว่าเป็นการส่งลูกผิดกติกา

วิธีส่งลูกในการเล่นประเภทเดี่ยว
ในการเล่นประเภทเดี่ยวนิยมส่งลูกโด่ง แต่ก็จะส่งลูกโด่งในการเล่นประเภทคู่ได้บ้าง การส่งลูกโด่งก็คล้าย ๆ กับการส่งลูกสั้น แตกต่างกันที่ การส่งลูกโด่ง ต้องใช้แรงและกำลังมากกว่า เพื่อให้วิถีของลูกลอยโด่งไปตกใกล้เส้นหลังในการเล่นประเภทเดี่ยว และให้ลูกลอยไปตกใกล้เส้นส่งลูกยาวในการเล่นประเภทคู่ การรับลูกควรยืนอยู่กลางสนามและคอยสังเกตุการยืนของผู้ส่งลูกว่าจะส่งมาทิศทางใด และควรเปลี่ยนวิธียืนรับให้ค่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลังมาเล็กน้อย แล้วแต่จะเหมาะสมที่จะมีโอกาสตีโต้กลับไปและทำคะแนนได้

วิธีส่งลูกในการเล่นประเภทคู่
นิยมส่งลูกสั้น เพราะใช้แรงเพียงเล็กน้อยให้ลูกเฉียดตาข่าย สูงกว่าตาข่ายประมาณ 1-8 นิ้ว การส่งลูกสั้นจะบังคับให้ผู้รับตีกลับมาด้วยลูกสั้นหรือลูกโด่ง ซึ่งทำให้ฝ่ายส่งลูกตบหรือตีทำคะแนนได้ จุดที่ควรส่งลูกสั้น คือ มุมทั้งสองข้างของสนามฝ่ายรับ เมื่อส่งลูกไปแล้วผู้ส่งควรรีบวิ่งตามลูกเข้าไปใกล้ตาข่าย เพื่อป้องกันมิให้อีกฝ่ายตีลูกสั้นกลับมา ส่วนคู่ของผู้ส่งจะครอบครองเนื้อที่ด้านหลังของสนาม เพื่อมิให้มีพื้นที่ว่าง

การรับลูก 
เมื่อฝ่ายส่งลูกส่งลูกข้ามตาข่ายมา ฝ่ายรับจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะเกมการเล่นอยู่ภายใต้การบังคับของฝ่ายส่งลูก ไม่ว่าฝ่ายส่งลูกจะส่งมายังจุดใดก็ตาม ฝ่ายรับจำเป็นต้องรับ และพยายามตีลูกให้ข้ามไปตามจุดที่ฝ่ายตนจะได้เปรียบ การรับลูกต้องคาดการณ์ล่วงหน้าถึงเป้าหมายการตีของฝ่ายส่งลูกหรือฝ่ายที่ตีโต้กลับมา และการรับลูกต้องตีไปยังจุดที่ห่างตัวอีกฝ่ายหนึ่งให้มากที่สุด ยิ่งตีห่างมากเท่าใด อีกฝ่ายจะมีเวลาจำกัดและตกเป็นฝ่ายรับทันที การรับลูกในเกมแบดมินตัน ไม่ควรตื่นเต้นและรีบร้อน ควรจะควบคุมสติให้มั่นคงตั้งรับโดยไม่กลัวเกรงว่าจะเป็นลูกแบบใหน มีหลักในการรับลูกที่ควรทราบดังนี้ คือ
ยืนอยู่ในสนามด้านของตน
ยืนคอยจนผู้ส่งลูก ส่งลูกข้ามมา
ไม่หลอกล่อ หรือบัง หรือรบกวนผู้ส่งลูก
ไม่ทำชักช้าถ่วงเวลาผู้ส่งลูก ทำให้ผู้ส่งลูกเสียเปรียบ
ในการเล่นประเภทคู่ คู่ของผู้รับจะต้องไม่รบกวนผู้ส่งลูก มอฉะนั้นฝ่ายรับจะเสียคะแนนทันที

การรับลูกในการเล่นประเภทเดี่ยว
ควรยืนรับโดยห่างจากเส้นส่งลูกสั้นประมาณ 2 ฟุต ในท่าเตรียมพร้อม เงื้อไม้สูงพยายามวิ่งเข้าหาลูก อย่าปล่อยให้ลูกลอยเข้าหาตัว ถ้าลูกมาโด่งให้ฟุตเวอร์คถอยหลังกลับไปตีลูกด้วยลูกตบหรือลูกตัดหยอด หรือโยนมุมหลัง ถ้าส่งลูกมาต่ำจะแย็บหรืองัดโด่งไปสองมุมหลัง หรือหยอดสูงมุมหน้าก็ได้

การรับลูกในการเล่นประเภทคู่ 
ฝ่ายส่งมักจะส่งลูกดสดเฉียดข้ามตาข่ายมา การยืนรับลูกควรยืนใกล้เส้นส่งลูกสั้น และพยายามที่จะหาทางตีโต้กลับไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝ่ายส่งแก้สถานการณ์ได้ยาก
การรับลูกในการเล่นประเภทคู่ จะต้องพยายามตีลูกกดลงให้ต่ำไว้เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นฝ่ายรับ อาจรับด้วยลูกดาด ลูกหยอด และลูกทแยงสนามให้ข้ามตาข่ายไป